กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี



กิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี
การจัดกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนรี
วัตถุประสงค์ของคณะลูกเสือแห่งชาติ
ลูกเสือสำรอง  ป.1- ป.3
ลูกเสือสามัญ  ป.4 – ป. 6
ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่  ม.1 – ม.3
ลูกเสือวิสามัญ  ม. 4 – ม.6
กระบวนการลูกเสือ  คือ  กระบวนการพัฒนาเยาวชน  มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรม  ให้การศึกษาและพัฒนาเยาวชนให้เป็นพลเมืองดี  โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ  ศาสนา  ทั้งนี้เป็นไปตามความมุ่งประสงค์  หลักการ  และวิธีการ  ซึ่งลูกเสือโลกได้กำหนดไว้
ปัจจุบันกระบวนการลูกเสือถือเป็นกระบวนการทางการศึกษาส่วนหนึ่ง  ซึ่งมุ่งพัฒนาสมรรถภาพของบุคคลทั้งทางสมอง  ร่างกาย  จิตใจ  และศีลธรรม  เพื่อให้เป็นบุคคลที่มีความประพฤติดีงาม  ไม่กระทำตนให้เป็นปัญหาต่อสังคม  และดำรงชีวิตอย่างมีความหมายและสุขสบาย

หลักการ
กระบวนการลูกเสือมีหลักการสำคัญ  ดังนี้
1.       มีศาสนาเป็นหลักยึดทางจิตใจ  จงรักภักดีต่อศาสนาที่ตนเคารพนับถือ  และพึงปฏิบัติศาสนกิจด้วยความจริงใจ
2.       จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และประเทศชาติของตน  พร้อมด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนสันติสุขและสันติภาพ  ความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน  และความร่วมมือซึ่งกันและกันตั้งแต่ระดับท้องถิ่น  ระดับชาติ  และระดับนานาชาติ
3.       เข้าร่วมพัฒนาสังคม  ยอมรับและให้ความเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้อื่น  และเพื่อนมนุษย์ทุกคน  รวมทั้งธรรมชาติและสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก
4.       มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
5.       ลูกเสือทุกคนต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณและกฎของลูกเสือ
วัตถุประสงค์
     พระราชบัญญัติลูกเสือ  พ.ศ.  2551  มาตรา  8  ได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมลูกเสือเพื่อพัฒนาลูกเสือทั้งทางกาย  สติปัญญา  จิตใจ  และศีลธรรม  ให้เป็นพลเมืองดี  มีความรับผิดชอบ  และช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสามัคคีและมีความเจริญก้าวหน้า  ทั้งนี้เพื่อความสงบสุขและความมั่นคงของประเทศชาติตามแนวทางดังต่อไปนี้
1.       ให้มีนิสัยในการสังเกต  จดจำ  เชื่อฟัง  และพึ่งตนเอง
2.       ให้มีความซื่อสัตย์สุจริต  มีระเบียบวินัย  และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
3.       ให้รู้จักบำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์
4.       ให้รู้จักทำการฝีมือและฝึกฝนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
5.       ให้รู้จักรักษาและส่งเสริมจารีตประเพณี  วัฒนธรรม  และความมั่นคงของชาติ

ขอบข่าย
          กิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังระเบียบวินัยและกฎเกณฑ์  เพื่อการอยู่ร่วมกัน  ให้รู้จักการเสียสละและบำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมและวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตย  ซึ่งการจัดกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  ให้เป็นไปตามข้อบังคับของลูกเสือแห่งชาติ  รวมทั้งให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551  โดยกำหนดหลักสูตรเป็น  4  ประเภท  ดังนี้
1.       ลูกเสือสำรอง  ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 - 3
2.       ลูกเสือสามัญ   ชั้นประถมศึกษาปีที่  4 - 6
3.       ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 – 3
4.       ลูกเสือวิสามัญ   ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  4 – 6

แนวการจัดกิจกรรม
          การจัดกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  มีแนวทางการจัดกิจกรรมตามวิธีการลูกเสือ  (Scout  Method)  ซึ่งมีองค์ประกอบ  7  ประการ  คือ
1.       คำปฏิญาณและกฎ  ถือเป็นหลักการที่ลูกเสือทุกคนให้คำมั่นสัญญา  ว่าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ  กฎของลูกเสือมีไว้ให้ลูกเสือเป็นหลักในการปฏิบัติ  ไม่ได้  ห้าม  ทำ  หรือ  บังคับ  ให้ทำ  แต่ถ้า  ทำ  ก็จะทำให้เกิดผลดีแก่ตัวเอง  เป็นคนดี  ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้มีเกียรติเชื่อถือได้  ฯลฯ
2.       เรียนรู้จากการกระทำ  เป็นการพัฒนาส่วนบุคคล  ความสำเร็จหรือไม่สำเร็จของผลงานอยู่ที่การกระทำของตนเอง  ทำให้มีความรู้ที่ชัดเจน  และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้  และท้าทายความสามารถของตนเอง
3.       ระบบหมู่  เป็นรากฐานอันแท้จริงของลูกเสือ  เป็นพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน  การยอมรับซึ่งกันและกัน  การแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ  การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ซึ่งเป็นการเรียนรู้การใช้ประชาธิปไตยเบื้องต้น
4.       การใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  ฝึกให้มีความเป็นหนึ่งเดียวในการเป็นสมาชิกลูกเสือ  เนตรนารี  ด้วยการใช้สัญลักษณ์ร่วมกัน  ได้แก่  เครื่องแบบ  เครื่องหมาย  การทำความเคารพ  รหัส  คำปฏิญาณ  กฎ  คติพจน์  คำขวัญ  ธง  เป็นต้น  วีธีการนี้จะช่วยให้ผู้เรียนตระหนักและภาคภูมิใจในการเป็นสมาชิกขององค์การลูกเสือโลก  ซึ่งมีสมาชิกอยู่ทั่วโลกและเป็นองค์กรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก
5.       การศึกษาธรรมชาติ  คือ  สิ่งสำคัญอันดับหนึ่งในกิจกรรมลูกเสือ  ธรรมชาติอันโปร่งใสตามชนบท  ป่าเขา  ป่าละเมาะ  และพุ่มไม้  เป็นที่ปรารถนาอย่างยิ่งในการไปทำกิจกรรมกับธรรมชาติ  การปีนเขา  ตั้งค่ายพักแรมในสุดสัปดาห์หรือตามวาระของการอยู่ค่ายพักแรมตามกฎระเบียบ  เป็นที่เสน่หาแก่เด็กทุกคน  ถ้าขาดสิ่งนี้แล้ว  ก็ไม่เรียกว่าใช้ชีวิตอยู่แบบลูกเสือ
6.       ความก้าวหน้าในการเข้าร่วมกิจกรรม  กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดให้เด็กทำต้องให้มีความก้าวหน้าและดึงดูดใจ  สร้างให้เกิดความกระตือรือร้นอยากที่จะทำ  และวัตถุประสงค์ในการจัดแต่ละอย่างให้สัมพันธ์กับความหลากหลายในการพัฒนาตนเอง  เกมการเล่นที่สนุกสนาน  การแข่งขันกันก็เป็นสิ่งดึงดูดใจและเป็นการจูงใจที่ดี
7.       การสนับสนุนโดยผู้ใหญ่  ผู้ใหญ่เป็นผู้ที่ชี้แนะหนทางที่ถูกต้องให้แก่เด็ก  เพื่อให้เขาเกิดความมั่นใจในการที่จะตัดสินใจกระทำสิ่งใดลงไป  ทั้งคู่มีความต้องการซึ่งกันและกันเด็กก็ต้องการให้ผู้ใหญ่ช่วยชี้นำ  ผู้ใหญ่เองก็ต้องการก็ต้องการนำพาให้ไปสู่หนทางที่ดี  ให้ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องและดีที่สุด  จึงเป็นการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย
เงื่อนไข
1.      เวลาในการเข้าร่วมกิจกรรม
การจัดกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  ตามหลักสูตรแต่ละระดับชั้น  สถานศึกษาอาจจัดเวลาได้ตามความเหมาะสม
ส่วนการจัดกิจกรรมเพื่อรับเครื่องหมายวิชาพิเศษของลูกเสือ  เนตรนารี  แต่ละประเภทอาจใช้เวลาเรียนปกติหรือนอกเวลาเรียนก็ได้
2.      การจัดกิจกรรม
2.1     การจัดกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารีตามหลักสูตร  ควรจัดให้มีการเปิดประชุมกองทุกครั้ง  เพื่อเป็นการฝึกระเบียบวินัยในตนเอง  โดยปฏิบัติตามขั้นตอน  ดังนี้ 
2.1.1         พิธีเปิด  (ชักธงขึ้น  สวดมนต์  สงบนิ่ง  ตรวจ  แยก)
2.1.2         เกมหรือเพลง
2.1.3         เรียนตามหลักสูตร
2.1.4         การเล่าเรื่องสั้นที่เป็นประโยชน์
2.1.5         พิธีปิด  (นัดหมาย  ตรวจ  ชักธงลง  เลิก)
     2.2 กิจกรรมการอยู่ค่ายพักแรม
          การเดินทางไกลและการอยู่ค่ายพักแรม  มีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกให้ลูกเสือมีความอดทน  อยู่ในระเบียบวินัย  รู้จักช่วยตัวเอง  รู้จักอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่น  ตลอดจนเรียนวิชาลูกเสือเพิ่มเติม  ผู้บังคับบัญชาลูกเสือจำเป็นต้องวางแผนนำลูกเสือไปเดินทางไกล  และอยู่ค่ายพักแรมไว้ให้พร้อมก่อนและเนิ่น ๆ ดังนั้นบทบาทผู้บังคับบัญชาลูกเสือที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อลูกเสือต่องานการอยู่ค่ายพักแรม  และตามหน้าที่ของตนเองจึงจำเป็นต้องหาโอกาสให้ลูกเสือของตนได้มีโอกาสในการอยู่ค่ายพักแรมเสมอ
          ให้ผู้กำกับลูกเสือนำลูกเสือไปฝึกเดินทางไกล  และอยู่ค่ายพักแรมปีหนึ่งไม่น้อยกว่า  1 ครั้ง ครั้งหนึ่งให้อยู่ค่ายพักแรมอย่างน้อย  1  คืน
          2.3  กิจกรรมพิธีการ  สถานศึกษาควรจัดกิจกรรมพิธีการลูกเสือ  เช่น  พิธีเข้าประจำกอง  พิธีทบทวนคำปฏิญาณและสวนสนาม  พิธีถวายราชสดุดี  พิธีประดับเครื่องหมายต่าง          ๆ เป็นต้น  เพื่อให้ลูกเสือมีความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในการเป็นลูกเสือ
          2.4  กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์  สถานศึกษาควรส่งเสริมการจัดกิจกรรมให้ลูกเสือได้บำเพ็ญประโยชน์ตามอุดมการณ์ของลูกเสือ
          3.  ผู้บังคับบัญชาลูกเสือควรผ่านการฝึกการอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือขั้นความรู้เบื้องต้นในแต่ละประเภท
          4.  สถานศึกษาควรให้มีการจัดตั้งกลุ่มหรือกองลูกเสือตามข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ

การประเมินกิจกรรม
          การประเมินกิจกรรมลูกเสือ  เนตรนารี  เป็นกระบวนการทดสอบความสามารถและพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนลูกเสือ  เนตรนารี  ซึ่งนอกจากพิจารณาความรู้ตามทฤษฎีแล้ว  ต้องพิจารณาด้านความประพฤติ  พฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรมที่เน้นทักษะและการปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายและประเมินตามสภาพจริง  ซึ่งแบ่งการประเมินผลออกเป็น  2  ส่วน  คือ
1.       กิจกรรมบังคับ  เป็นการประเมินผลกิจกรรมตามหลักสูตร  เพื่อให้ผู้เรียนผ่านเกณฑ์การตัดสิน  เลื่อนขั้นหรือจบหลักสูตร  โดยการเข้าร่วมกิจกรรมและผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด  มีการประเมินผลตลอดภาคเรียน / ปี  โดยวิธีการสังเกตการเข้าร่วมกิจกรรม  การซักถาม  การทดสอบภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  โดยกำหนดผลการประเมินเป็น  ผ่าน  และ  ไม่ผ่าน
ผ่าน  หมายถึง  ผู้เรียนมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมตามเกณฑ์  ปฏิบัติกิจกรรม และมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
ไม่ผ่าน  หมายถึง  ผู้เรียนมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมไม่ครบตามเกณฑ์  ไม่ผ่านการปฏิบัติกิจกรรม  หรือมีผลงาน/ชิ้นงาน/คุณลักษณะไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
2.       วิชาพิเศษ  การประเมินผลวิชาพิเศษในแต่ละวิชา  ใช้วิธีการทดสอบทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  ตามหลักเกณฑ์ในข้อบังคับคณะลูกเสือแห่งชาติ